บัตรอวยพรใบแรกของสยาม - บัตรอวยพรวันวิสาขบูชา

บัตรอวยพรใบแรก ๆ ของสยาม เราได้รับธรรมเนียมมาจากฝรั่งชาติตะวันตก เช่นเดียวกับการพิมพ์นามบัตร หรือพิมพ์การ์ดเชิญต่างๆ บัตรอวยพรที่เก่าแก่ที่สุด หรือแบบแรกที่สุด คือ บัตรอวยพรปีใหม่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงทำขึ้นเป็นพระองค์แรก เมื่อ 120 กว่าปีก่อน
บัตรอวยพรนอกจากนี้ได้แก่ บัตรอวยพรวันคริสต์มาส วันเกิด และ วันมงคลต่างๆ รัชกาลที่ 4 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ติดต่อกับประเทศตะวันตก และเรียนรู้ขนบธรรมเนียมตลอดจนวิทยาการของชาวตะวันตกหลายๆอย่าง การส่งบัตรอวยพรของพระองค์นั้นเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใดยังไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่นอนชัดเจน แต่ได้มีสำเนาคำพระราชทานพรขึ้นปีใหม่ ( พ.ศ. ๒๔๐๙ ) ของพระองค์ ซึ่งพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษปรากฏอยู่ใน น.ส.พ. THE BANGKOK RECORDER ( ฉบับภาษาอังกฤษ ) ของหมอบรัดเลย์ แปลความได้ว่า ทรงขอส่งบัตรตีพิมพ์คำอวยพรนี้ถึงบรรดากงสุล เจ้าหน้าที่กงสุลชาติต่างๆ และชาวต่างประเทศที่ทรงคุ้นเคยโดยทั่วถึงกัน
บัตรอวยพร ที่เก็บรักษาไว้ที่ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ซึ่งเป็นสถานที่รวบรวมบัตรอวยพรตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจนถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งเราจะได้เห็นถึงวิวัฒนาการของบัตรอวยพรปีใหม่ของคนไทยได้เป็นอย่างดี เป็นการส่งมอบความสุขเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ไทยคือ ๑ เมษายน ซึ่งเป็นบัตรอวยพรที่เจ้านาย ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และผู้น้อยส่งมาถวายรัชกาลที่ ๕ รัชกาลที่ ๖ และรัชกาล
ที่ ๗
แต่เดิม วันขึ้นปีใหม่ไทยแต่โบราณ ถือเอาวันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ ภายหลังทางราชการนิยมใช้ สุริยคติ จึงถือวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ ในช่วงสมัยที่มีการส่งบัตรอวยพรปีใหม่ นอกจากบัตรอวยพรปีใหม่แล้ว ยังปรากฏว่ามีการส่งบัตรอวยพรในวันตรุสฝรั่งหรือวันคริสต์มาสคือ วันที่ ๒๕ ธันวาคมและวันขึ้นปีใหม่สากลคือวันที่ ๑ มกราคม ด้วย
บัตรอวยพรในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีตัวอย่างในหอจดหมายเหตุแห่งชาตินับร้อยๆแผ่น เรียกว่ามากพอสมควร ซึ่งสามารถแยกออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ 4 ประเภท คือ
ประเภทที่หนึ่ง ใช้นามบัตรแผ่นเล็กๆ เป็น ส.ค.ส. นามบัตรที่ว่านี้จะเล็กกว่าปัจจุบันนี้เล็กน้อย ส่วนใหญ่จะมีแต่ชื่อไม่มีสถานที่ บางบัตรก็เป็นบัตรที่ใช้พิมพ์ บางบัตรก็ใช้ปากกาเขียนคำว่า ส.ค.ส ปีนั้น ปีนี้ลงไป
ประเภทที่สอง จะใช้ ส.ค.ส. ที่ฝรั่งพิมพ์ขายอย่างสวยงาม บางแผ่นก็มีหลายชั้น สามารถยืดได้และพับได้
ประเภทที่สาม ใช้กระดาษเปล่าเขียนคำอวยพร และเซ็นชื่อข้างท้ายคล้ายกับการเขียนจดหมาย เท่าที่พบจะเป็นคำถวายพระพรรัชกาลที่ 5 จากขุนนาง หรือจากเจ้านายชั้นสูง
ประเภทสุดท้าย จะใช้วิธีการอัดรูป หรือข้อความลงในกระดาษอัดรูป การอัดรูปทำ ส.ค.ส. นี้ ในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็มีการทำกันในราชสำนักในสมัยรัชกาลที่ 9 ก็เคยนิยมทำกัน
ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในระหว่างปี ๒๔๖๓ ๒๔๖๕ มีบัตรอวยพรชุดที่เด่น คือ ภาพถ่ายที่อัดบนบัตรอวยพร ชุดภาพการซ้อมรบเสือป่า และแบบที่แปลกตาคือ บัตรอวยพรส่งความสุขเนื่องในวันวิสาขบูชา สันนิษฐานว่า รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ริเริ่มขึ้นเพื่อแสดงถึงเอกลักษณ์ของชาวสยามและในฐานะที่เป็นเมืองที่นับถือพระพุทธศาสนา มีลักษณะที่เป็นภาพวาดด้วยสีน้ำ และภาพพิมพ์ เช่น ภาพพระพุทธเจ้าเมื่อเสด็จออกผนวช ฯลฯ และนิยมเขียนคำอวยพรเป็นคาถาในภาษาบาลี
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริที่จะให้เป็นประเพณีนิยม ในการส่งบัตรอวยพร "วันวิสาขบูชา" ในหมู่พุทธศาสนิกชน ทรงริเริ่มส่งบัตรอวยพรพระราชทานพรวันวิสาขบูชาแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง และข้าราชการฝ่ายต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมเผยแพร่พระพุทธศาสนา บัตรอวยพร เนื่องในโอกาสวันวิสาขบูชา ได้รับความนิยมลดน้อยลงและหมดความนิยมลงในปัจจุบัน
ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๒๙ และ ๒๕๓๑ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากร จัดพิมพ์บัตรอวยพรเนื่องในวันวิสาขบูชาขึ้น เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ประเพณีการส่งบัตรอวยพรเนื่องในวันสำคัญทางศาสนา
ในวาระโอกาสที่ "วันวิสาขบูชา" ซึ่งตรงกับวันพุธที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๔ รักสยาม หนังสือเก่า ขออัญเชิญบัตรถวายพระพร วันวิสาขบูชา ที่พระบรมวงศานุวงศ์ขุนนาง และข้าราชการมฝ่ายต่าง ๆ ได้ส่งบัตรถวายพระพรมาจัดแสดง บัตรถวายพระพรเหล่านั้นแต่ละใบแฝงไว้ด้วยความงดงามด้านศิลปกรรม อันทรงคุณค่า และความยึดมั่นศรัทธราในพระพุทธศาสนาที่มีมาช้านานคู่บ้าน คู่เมืองของเรา
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีจะทันสมัยไปมากแล้ว การอวยพรปีใหม่ก็สามารถโทรศัพท์ไปอวยพรได้รวดเร็วทันใจ แต่ปัจจุบันนี้ เราก็ยังคงนิยมส่งบัตรอวยพรในโอกาสต่าง ๆ ให้ผู้ที่เรานับถือเหมือนเดิมมิเสื่อมคลายไป
บัตรอวยพร เนื่องในวันวิสาขบูชา ในรัชกาลที่ ๖ วาดภาพด้วยสีน้ำเกี่ยวกับพุทธประวัติ มีลักษณะเด่นสวยงาม
ข้อมูลอ้างอิง
อเนก นาวิกมูล. เนื่องด้วยความศุข ผาสุก 17,97 น. 27-30
----------------. สิ่งพิมพ์คลาสสิค. กรุงเทพ : วิคตอรี่เพาเวอร์พอยท์ , 2533
สำนักพระราชวัง.ปกิณกะในรั้ววัง(อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ม.ล.ทวีสันต์ ลดาวัลย์.
กรุงเทพ : อมรินทร์พริ้นติ้ง.2549