ขุมทรัพย์สารบาญชีสะท้อนวิถีสมัยร.5

สารบาญชีบันทึกเลขที่บ้าน ยุคแรก ๆ ของสยามบ้านเมืองของเรานี้ มีมากว่า 100 ปีแล้ว หนังสือเล่มนี้เปรียบเหมือนสมุดบันทึกประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตของบรรพบุรุษของเราในยุคนั้น และยังเป็นการจัดทำเพื่อสำรวจสำมะโนประชากรในกรุงเทพฯ เพื่อจัดส่งไปรษณีย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 นักวิชาการเผยมีระบบจัดเก็บข้อมูลรายละเอียดยิบเหมือนสมุดหน้าเหลืองในปัจจุบัน
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธ์วรเดช
อธิบดีกรมไปรษณีย์พระองค์แรก
สารบาญชีบันทึกเลขที่บ้านครั้งแรกในประเทศไทย สำหรับกิจการไปรษณีย์ มีจำนวน 4 เล่ม ในส่วนของหน้าปกเล่ม 1 เขียนไว้ว่า โดยพระบรมราชโองการ สารบาญชีส่วนที่ 1 คือ ตำแหน่งราชการ สำหรับเจ้าพนักงานกรมไปรษณีย์กรุงเทพมหานคร
สารบาญชีเปรียบเสมือนขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า ที่มีคุณค่าต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย สะท้อนให้เห็นภาพวิถีชีวิต สังคม และเศรษฐกิจในสมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งนี้ ขอเรียกสารบาญชีดังกล่าวว่า เป็นการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งแรกของไทย โดยจำแนกข้อมูลหัวหน้าครัวเรือน อาชีพ เชื้อชาติ สถานะ ลักษณะบ้านเรือนอาศัยอยู่ ตรอก ถนน ลำน้ำ และออกเลขที่บ้านให้ประชาชนในกรุงเทพมหานคร เพื่อใช้ประโยชน์ในการส่งไปรษณีย์
สำหรับหนังสือชุดนี้จัดพิมพ์ขึ้นใหม่โดย สำนักพิมพ์ต้นฉบับ และเจ้าของพิพิธภัณฑ์ต้นฉบับ ซึ่งดำเนินการจัดพิมพ์สารบาญชีจากต้นฉบับที่เก็บรักษาไว้ในหอสมุดแห่งชาติ กล่าวว่า สารบาญชีเหมือนสมุดบันทึกหน้าเหลืองในปัจจุบัน และแสดงให้เห็นถึงระบบการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ และมีรายละเอียดมาก อีกทั้งยังนับว่า เป็นสำมะโนประชากรฉบับแรกของประเทศไทยก็ว่าได้
ความเป็นมาของหนังสือเล่มนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธ์วรเดช ซึ่งในขณะนั้นทรงกำกับดูแลทรงรับราชการเป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์ จัดพิมพ์ขึ้นจากบัญชีบ้านเลขที่ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์และโทรเลข ได้ดำเนินการติดป้ายเลขที่บ้านทำบัญชีไว้ หนังสือนี้ได้จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อราวปีพ.ศ. 2426 ณ โรงพิมพ์บ้านพระเทพผลู จำนวน 4 เล่ม
ตัวอย่างบางส่วน บาญชีข้าราชการ ในหน้า ๑๙๒
รมพระพราหมณโหราจารย์
พระมหาราชครูพิธีจางวาง(อาด) บ้านตรอกหลังเทวสถาน ที่ ๑๐๒
พระครูอัศฎาจารย์เจ้ากรม(แจ้ง) บ้านตรอกข้างเทวสถาน ที่ ๔
หลวงราชมุนี(เหมือน) บ้านตรอกหลังเทวสถาน ที่ ๒
หลวงศรีวาจาจารย์ปลัดกรม(รุ่ง) บ้านตรอกหลังเทวสถาน
หลวงสุริยาเวศ(ริ้ว) บ้านตรอกหลังเทวสถาน ที่ ๑๐๒
ขุนธรรมนรายณ์สมุบาญชี(อิน) บ้านตรอกหลังเทวสถาน ที่ ๔
นายเวรของกรมท่ากลาง (หน้า ๗๑)
หมื่นวิเสษอักษร(ครุด) บ้านบางไส้ไก่
หมื่นวิสูทอักษร(เล็ก) บ้านขุนอักษรสมบัติ
หมื่นพินิจอักษร(แดง) บ้านถนนญวน
หมื่นอินท์อักษร(โพ) บ้านริมคลองโอ่งอ่าง ริมวัดบพิธพิมุข(เชิงเลน)
"สารบาญชีแต่ละเล่มมีจุดเด่นที่น่าสนใจ เล่ม 1 ตำแหน่งราชการ มี ข้อมูลขุนนางชั้นผู้ใหญ่อาศัยอยู่ที่ไหนบ้าง
เล่ม 2 ระบุชื่อถนน ตรอก เช่น เจริญกรุง บำรุงเมือง เฟื่องนคร เล่ม 3 ลักษณะการตั้งถิ่นฐาน เช่น มีคนไทยอยู่ 69% คนจีน 26% รวมทั้งคนอินเดีย มาเลย์จำนวนเท่าไหร่ บ้านสังกะสีและขัดแตะไม้ไผ่มีกี่หลัง บางคนอาศัยโลงศพเป็นที่นอน และเล่ม 4 ว่าด้วยคู คลอง ลำประโดง ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจภูมิปัญญาการเกษตร" คุณค่าที่ได้จากหนังสือชุดนี้มีหลายแง่มุมที่น่าสนใจ ดังนี้
ด้านประวัติศาสตร์ ทำให้ทราบถึงความรุ่งเรื่องและการขยายตัวของบ้านเมืองในช่วงต้นแห่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่ามีการกระจายออกไปในทิศทางใดของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตามแนวที่เรียกว่าพระนครชั้นใน พระนครชั้นนอก ย่านชุมชนชาวต่างประเทศ เช่น บ้านเขมร บ้านญวน
ด้านสถานที่ นอกจากตำแหน่งเลขที่วัง เลขที่บ้านแล้ว ยังทำให้ทราบตำแหน่งที่ตั้งของวังเจ้านาย ทั้งวังหลวง วังหน้า ถนนหนทาง ตรอกและซอยต่าง ๆ ตลอดจนที่อยู่ของข้าราชการและประชนพลเมืองว่ามีรูปแบบใด บ้าน ตึกหรือเรือแพ อีกทั้งลักษณะของบ้านที่ว่าเป็นเรือนฝาแตะ เรือนฝากระดาน หรือเรือนฝากระแชงอ่อน
ด้านบุคคล ทำให้ทราบชัดเจนว่าเจ้านายพระองค์ใดมีพระชนม์ชีพอยู่ในขณะนั้น ช้าราชการผู้ใดอยู่ในสังกัดกรมกองอะไร ขึ้นกับเจ้านายพระองค์ใดบ้าง ตลอดจนนามเดิมและตำแหน่งในส่วนราชการก่อนการปรับปรุงโครงสร้างระบบราชการครั้งสำคัญของสยาม เป็นรูปแบบกระทรวงเสนาบดีและบรรดาศักดิ์ที่ได้รับ รวมทั้งตำแหน่งพระสงฆ์และชาวต่างชาติที่รับราชการอยู่ในสยามด้วย
ด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ทำให้ทราบถึงการประกอบอาชีพของผู้คนในยุคนั้นว่ามีการทำมาหาเลี้ยงชีพกันอย่างไรกิจการห้างร้านที่เกิดขึ้นในขณะนั้นตั้งอยู่ที่ใดบ้าง มีใครเป็นผู้ประกอบการ
ภาพถ่ายจากพระปรางค์วัดอรุณ ธนบุรี แลเห็นแม่น้ำเจ้าพระยาและฝั่งพระนคร ด้านท่าเตียน(ซ้าย)
ต่อเนื่องไปจนถึงปากคลองตลาด (ถ่ายในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยร้านโรเบิร์ต เลนซ์)
สิ่งสำคัญในหนังสือชุดนี้ จัดได้ว่าเป็นหนังสือประเภทนามสงเคราะห์ทั้งส่วนราชการและเอกชนกลุ่มแรกสุดของสยามอันจะเป็นประโยชน์ในการใช้อ้างอิงและตรวจสอบหลักฐานต่าง ๆ ตลอดจนข้อมูลในทางวิชาการได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะในช่วงต้นรัชกาลที่ 5 ซึ่งยังขาดข้อมูลเป็นจำนวนมาก ทำให้เราต้องพึ่งหลักฐานจากเอกสารต่างประเทศเสมอถึงแม้ทุกวันนี้เทคโนลียีการสื่อสารในบ้านเมืองของเราจะก้าวไกลแค่ไหน การสื่อสารด้วยการโทรเลขจะสูญหายไปแล้วก็ตาม แต่เราต้องไม่ลืมรากเหง้าความเป็นมาและคุณงามความดีที่บรรพชนรุ่นก่อนที่ท่านได้ทิ้งมรดกอันทรงคุณค่าไว้ให้เราลูกหลานของท่านในยุคปัจจุบันได้ใช้เป็นคู่มือในการศึกษาค้นคว้ากันต่อไป